หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543
ประเทศ จีน
กลับไปหน้าที่แล้ว

เจียงหนานแสนงาม


พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๒ ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๒ เมษายน – ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ทรงพระราชนิพนธ์ใน “คำนำ” เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ตอนหนึ่งว่า

“…คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง ภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของกิมย้งก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ อาจารย์ของก๊วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่องจอมใจจักรพรรดิ หรือเจียงซานเหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า เจียงหนานเห่า หรือ เจียงหนานแสนงาม เป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก
“เจียงหนาน ที่กล่าวถึงในบทกวีของไป๋จวีอี้และที่ข้าพเจ้าไปท่องมานั้นอยู่ในพื้นที่ของมณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียง ข้าพเจ้าไปเยือนจีนครั้งนี้ ๑๓ วัน อยู่ที่ปักกิ่ง ๔ วัน (๒-๕ เมษายน ๒๕๔๒) เจียงหนาน ๗ วัน (๖-๑๒ เมษายน) และคุนหมิง ๒ วัน (๑๓–๑๔ เมษายน) เมื่อกลับมาแล้ว ได้เขียนเรื่องที่ได้พบเห็น ได้ยินมา รวมทั้งที่ได้ตรวจสอบข้อมูลและค้นคว้าเพิ่มเติมเท่าที่จะหาได้มาเล่าให้ผู้อ่านฟัง จะได้ไปท่องโลกกว้างแสวงหาปัญญาร่วมกัน ไปท่องแดนเจียงหนานแสนงามว่า งามอะไร งามอย่างไร จนมีบทกวีมากมายของกวีหลายคนเขียนพรรณนาถึงเจียงหนาน…”


วันที่ ๑ (วันศุกร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ถึงกรุงปักกิ่ง รองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิง และภริยา จัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ

วันที่ ๒ (วันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติกรุงปักกิ่ง ชุมชนชาวไทยเฝ้าฯ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย เสวยพระกระยาหารค่ำที่ภัตตาคารทิงลี่ ในพระราชวังฤดูร้อน

วันที่ ๓ (วันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ต่อต้านญี่ปุ่น สะพานหลูโกวเฉียว (สะพานมาร์โคโปโล) เสวยพระกระยาหารกลางวันร่วมกับอดีตพระอาจารย์ภาษาจีน ณ เรือนรับรองที่ประทับ หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรร้านหนังสือ ศาสตราจารย์ เฉินซู่เผิง เฝ้าฯ ณ เรือนรับรองที่ประทับ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรร้านน้ำชาเหล่าเซ่อ

วันที่ ๔ (วันจันทร์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดี อาเธอร์ เอ็ม. แซคเกลอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทอดพระเนตรสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกิจการของโรงเรียนประถมศึกษา หมายเลข ๒ ทรงพบรองประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปยังนครนานกิง มณฑลเจียงซู

วันที่ ๕ (วันอังคารที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เหมยหยวนซินชุน (Meiyuan xincun Museum) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลเป็นหัวหน้ามาพักอาศัยอยู่และพยายามเจรจาหย่าศึกกับพวกก๊กมินตั๋งระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๗๖ – มีนาคม ค.ศ.๑๙๔๗ ด้านหน้าของหมู่บ้านปัจจุบันทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ทอดพระเนตรบ้านเลขที่ ๓๐ ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้นำคอมมิวนิสต์ และบ้านเลขที่ ๓๕ เป็นห้องทำงานของโฆษกคณะผู้แทนซึ่งมีหน้าที่โฆษณาพรรคด้วย
ต่อจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นานกิง สุสานของประธานาธิบดีซุนยัดเซ็น สวนพฤกษศาสตร์หนานจิง และหอดูดาว Purple Moutain Observatory ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย หลังจากนั้น เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรศาลเจ้าขงจื๊อ

วันที่ ๖ (วันพุธที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยนานกิง ทรงบรรยายประสบการณ์เกี่ยวกับจีนที่ศูนย์ Hopkins-Nanjing Center  เสด็จฯ ไปมหาวิทยาลัยโหไห่ ทรงพบเลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์มณฑลเจียงซู ทอดพระเนตรบริษัทผลิตเครื่องรัก ณ เมืองหยังโจว นายกเทศมนตรีเมืองหยังโจวจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๗ (วันพฤหัสบดีที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์หยังโจว ประทับเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรทัศนียภาพทะเลสาบโซ่วซีหู ซึ่งมีทิวทัศน์ที่งดงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลื่องลือของหยังโจว ทอดพระเนตรสวนแบบเจียงหนาน ศาลาตกปลา ตำหนักว่อชุนไถ บนเกาะซวีหยวน และทอดพระเนตรวัดต้าหมิง เสด็จฯ ไปเมืองเจิ้นเจียง ทอดพระเนตรสวนสาธารณะหมู่บ้านจินซาน หอฝูหรง วัดจินซาน พระเจดีย์ ๗ ชั้น ต่อจากนั้น นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้นเจียงจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๘ (วันศุกร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง เป่ยกู้ซาน ซึ่งจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ.๕๐๒–๕๑๙) เคยพูดถึงเขาเป่ยกู้ซานว่าเพิ่มความสง่างามให้แก่เมืองเจิ้นเจียง และมีศิลาจารึกบนทางขึ้นเขาเป่ยกู้ซานใกล้ถึงวัดกานลู่ ข้อความว่า “เทียนเซี่ยตี้อีเจียงซาน” ซึ่งแปลว่า ทิวทัศน์เป็นที่หนึ่งแห่งแผ่นดิน ทอดพระเนตรวัดกานลู่ หอเทียนเซี่ยตี้อีโหลว และศาลาจี้เจียงถิง ซึ่งเป็นศาลาที่น้องสาวซุนกวน ขณะนั้นอยู่เมืองกังตั๋ง สร้างเป็นที่ระลึกถึงเล่าปี่เมื่อได้ข่าวลือว่าเล่าปี่เสียชีวิตในที่รบ ก่อนที่นางจะกระโดดน้ำตายตามไปด้วย
เสด็จฯ ไปสวนอุตสาหกรรมซูโจว เมืองซูโจว ทอดพระเนตรโรงงานผลิตชิปของบริษัทซัมซุง และทอดพระเนตร Suzhou Industrial Park Institute of Vocational Technology นายกเทศมนตรีเมืองซูโจวจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๙ (วันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๒)
ทอดพระเนตรสวนจัวเจิ้งหยวน ซึ่ง “…หนังสือนำเที่ยว Lonely Planet ถือว่าสวนนี้เป็นสวนซูโจวที่ดีที่ ๒ ต่อจากสวนหวั่งซือ แต่ทางการจีนถือว่าเป็นหนึ่งใน ๔ ของสวนสำคัญของประเทศ โดยประกาศใน ค.ศ.๑๙๖๑ พร้อมๆ กับสวนอี้เหอหยวนในปักกิ่ง สถานตากอากาศเฉิงเต๋อ และสวนซูโจวหลิวหยวน…” พิพิธภัณฑ์เมืองซูโจว พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหมปัก สถาบันวิจัยการปักผ้าไหม วัดซีหยวน หู่ชิว (เนินเสือ) และสวนหวั่งซือ

วันที่ ๑๐ (วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปเมืองหังโจว ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง และหมู่บ้านเหมยเจียอู ผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียงจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๑๑ (วันจันทร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๒)
ประทับเรือพระที่นั่ง ทอดพระเนตรทัศนียภาพทะเลสาบซีหู ทอดพระเนตรโคมหินบนเกาะซานถานอิ้นเย่ว์ (เกาะโคมหินสะท้อนเงาจันทร์) ทอดพระเนตรสวนท่าดอกไม้ (ฮวากั่ง) เสด็จฯ ไปเมืองเซ่าซิง นายกเทศมนตรีเมืองเซ่าซิงจัดพระกระยาหารกลางวันถวาย เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านเกิดหลู่ซวิ่น (หลู่ซุ่น) ทอดพระเนตรโรงเรียนซานเว่ย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่หลู่ซวิ่นเคยเรียน ทอดพระเนตรบ้านวีรสตรีชิวจิ่น และบ้านบรรพบุรุษของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล รองผู้ว่าราชการเมืองเซ่าซิงจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๑๒ (วันอังคารที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ชนกลุ่มน้อย ผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำถวาย

วันที่ ๑๓ (วันพุธที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๒)
เสด็จฯ ไปที่งาน Expo ‘๙๙ (World Horticultural Expo Garden) ทอดพระเนตรสวนบอนไซ สวนสมุนไพร เรือนกระจก ศาลาไทย สวนชา พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชา และศาลาจีน นักธุรกิจไทยในคุนหมิง เฝ้าฯ ณ โรงแรมที่ประทับ

เสด็จฯ นิวัตกรุงเทพมหานคร